CreativeMatters & Art Book Fair 2025: มหกรรมหนังสือสื่อสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืน

     มหกรรมหนังสือสื่อสร้างสรรค์ CreativeMatters & Art Book Fair 2025 ครั้งที่ 3 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 14 กุมภาพันธ์ 2568 ณ หอสมุดวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้แนวคิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้าน ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ และการออกแบบ พร้อมกับการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายในงานมีการออกร้านจำหน่ายหนังสือ งานศิลปะ อาหาร และกิจกรรมที่จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งในทุกกิจกรรมมีการสอดแทรกแนวคิดการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืน อาทิ

📚 โซนจำหน่ายหนังสือและสื่อศิลปะ – คัดสรรหนังสือด้านศิลปะ การออกแบบ และสื่อการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

     การเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการร้านหนังสือและสำนักพิมพ์ รวมทั้งสิ้น 21 ร้าน นำเสนอหนังสือและสื่อคุณภาพด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ และการออกแบบ เพื่อให้นักศึกษาและประชาคมมหาวิทยาลัยศิลปากรสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้อย่างสะดวก พร้อมทั้งสามารถคัดเลือกหนังสือเพื่อนำเข้าสู่หอสมุดวังท่าพระโดยตรง เพื่อยกระดับและเสริมสร้างทรัพยากรทางวิชาการให้แก่สถาบันอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่สำหรับศิลปินและนักออกแบบได้จำหน่ายผลงานศิลปะที่หลากหลาย โดยส่งเสริมให้นักศึกษาปัจจุบันได้นำเสนอและจำหน่ายผลงานของตนเองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีนักศึกษาเข้าร่วมเปิดร้านทั้งสิ้น 10 ร้าน เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านธุรกิจสร้างสรรค์ ที่พร้อมมอบประสบการณ์การเรียนรู้และสร้างสรรค์ให้กับผู้เข้าร่วมงาน

🎤 CreativeMatters Talk: เวทีเสวนาทางความคิด – เสวนาความรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ สถาปัตยกรรม และงานออกแบบ

     “CreativeMatters Talk: รวม His…tory เพราะทุกอย่างในโลกนี้มีที่มา” เป็นการเสวนาที่สำรวจภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของงานศิลปะ สถาปัตยกรรม และงานออกแบบจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยมีวิทยากรจาก 4 คณะวิชา ได้แก่

      ดร.ปติสร เพ็ญสุต จากภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ซึ่งบรรยายเรื่อง “โบสถ์คริสต์ในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม ความหมาย สมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์”

     ผศ.ดร.พินัย สิริเกียรติกุล จากภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่บรรยายเรื่อง “เสริมความทันสมัย: ระบบคอนกรีตเสริมเหล็กแบบเฮนเนบิกในการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม” ซึ่งเนื้อหานี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความ “Reinforced Modernity: The Hennebique System of Reinforced Concrete in the Ananta Samakhom Throne Hall” ที่ได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ใน Journal of Siam Society ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2568

     รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร จากภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ที่บรรยายเรื่อง “กว่าจะเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะ”

     ผศ.ดร.อรอุมา วิชัยกุล จากภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ ที่บรรยายเรื่อง “จากสวนโบราณสู่งานเครื่องประดับร่วมสมัย”

สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ : https://www.facebook.com/share/v/19kvY9kAd9/

     “CreativeMatters Talk: มนต์รักในเครื่องประดับสายมู” ที่พูดถึงแนวคิดการออกแบบเครื่องประดับภายใต้ความเชื่อ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี โดยมี คุณจันทรา จันทร์พิทักษ์ชัย ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ Leila Amulets เป็นวิทยากร และดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทัศน์ฐรสชง ศรีกุลกรณ์ หัวหน้าภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ :  https://www.facebook.com/share/v/167ttQCdrS/  

🎨 นิทรรศการศิลปะและเวิร์กช็อปสร้างสรรค์ – เปิดพื้นที่ให้ศิลปินและนักออกแบบแสดงผลงาน พร้อมจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

     “Sense of Saen Saep” นิทรรศการเครื่องประดับที่ได้แรงบันดาลใจจาก “แสนแสบ” คลองประวัติศาสตร์ที่รายล้อมไปด้วยชุมชน สถาปัตยกรรม ศาสนสถาน วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อ เรื่องราวเหล่านี้ถูกถ่ายทอดอย่างประณีตลงบนเครื่องประดับกว่า 30 ชิ้น โดยนักศึกษา ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

     “ความยั่งยืนเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ” โดย สุนิสา น้ำดอกไม้ นักศึกษาหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นำเสนอความหลากหลายของวัสดุเหลือใช้จากการโฆษณาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความสมดุลของธรรมชาติ โดยแปรสภาพวัสดุไวนิลหลากหลายรูปแบบด้วยกระบวนการแนวความคิดเพื่อให้มนุษย์ตระหนักถึงคุณค่าจากวัสดุเหลือใช้ที่ไร้ประโยชน์ สู่การสร้างสรรค์ให้เกิดคุณประโยชน์กลับมาทำหน้าที่โฆษณาในรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์เสริมสร้างคุณค่าในการกลับมาใช้เพื่อความเป็นอยู่อย่างยั่งยืน

     “การซ่อมหนังสือเบื้องต้น” เป็นกิจกรรมฝึกทักษะการซ่อมหนังสือจากผู้ทำงานอยู่เบื้องหลังของหอสมุดวังท่าพระ พร้อมทั้งเทคนิคในการถนอมหนังสือให้มีอายุการใช้งานที่นานขึ้น

     “BOOKDIY หนังสือทำมือ” ฝึกทักษะการทำหนังสือ สมุดบันทึกไว้ใช้งานจากฝีมือของตัวเอง

     “DIY by พี่ชวนกรีน ตอน พวงกุญแจจาก (ขยะ) พลาสติก” สร้างสรรค์พวงกุญแจจากวัสดุเหลือใช้ประเภทฝาขวดน้ำและกล่องพลาสติกใส่อาหาร

 

🌱 กิจกรรมอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม – ภายในงานได้มีการดำเนินการเพื่อลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ส่งเสริมการรีไซเคิลสื่อสิ่งพิมพ์ และการใช้พลังงานสะอาดอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการดำเนินงานที่ยั่งยืนในทุกมิติ

     มหกรรมนี้ไม่เพียงเป็นเวทีสำหรับนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยศิลปากรในการคัดเลือกหนังสือเข้าสู่หอสมุดวังท่าพระเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่สนับสนุนแนวคิดด้านความยั่งยืนผ่านศิลปะและการออกแบบ โดยเปิดโอกาสให้ทุกท่านได้มีส่วนร่วมในการค้นพบแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนในทุกมิติ

ที่มา : https://lib.su.ac.th/2025/02/22/sutlib-greenlibrarysdgs-1-2025/

รูปที่ 1 ภาพประชาสัมพันธ์กิจกรรมเพื่อความยั่งยืน (SDGs) ในงาน CreativeMatters & Art Book Fair 2025 มหกรรมหนังสือสื่อสร้างสรรค์ครั้งที่ 3

รูปที่ 2 แสดงพื้นที่จำหน่ายหนังสือ งานศิลปะ และอาหาร

รูปที่ 3 แสดงกิจกรรม CreativeMatters Talk: รวม His…tory เพราะทุกอย่างในโลกนี้มีที่มา

รูปที่ 4 แสดงกิจกรรม CreativeMatters Talk: มนต์รักในเครื่องประดับสายมู

รูปที่ 5 แสดงกิจกรรม Workshop การซ่อมหนังสือเบื้องต้น

รูปที่ 6 แสดงกิจกรรม Workshop BOOKDIY หนังสือทำมือ

รูปที่ 7 แสดงกิจกรรม Workshop DIY by พี่ชวนกรีน ตอน พวงกุญแจจาก (ขยะ) พลาสติก

รูปที่ 8 แสดงกิจกรรม Exhibition  Sense of Saen Saep

รูปที่ 9 แสดงกิจกรรม Exhibition  ความยั่งยืนเริ่มต้นจากจุดเล็ก