โครงการวิจัยสมุทรสงครามอยู่ดี: จากต้นทุนนิเวศวัฒนธรรมสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ท้องถิ่นเพื่อสร้างความเข้มแข็งต่อวิถีวัฒนธรรมและยกระดับมูลค่าเศรษฐกิจชุมชน
     โครงการสมุทรสงครามอยู่ดี สานพลังความรู้-พลังพหุภาคีปลุกชีพจร “อัมพวา” รศ.ดร.เกรียงไกร  เกิดศิริ รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการวิจัยสมุทรสงครามอยู่ดี : การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนฐานนิเวศวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการส่งมอบคุณค่าตามกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) โดยการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โครงการสมุทรสงครามอยู่ดีดำเนินการเพื่อมุ่งจัดการองค์ความรู้และเก็บข้อมูลปฐมภูมิทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับสิ่งแวดล้อม และนิเวศวิทยาวัฒนธรรม ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมกันหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้-เสียอย่างใกล้ชิด (Stakeholder Engagement) โดยมีเป้าหมายไปสู่การพัฒนาเชิงพื้นที่ให้เกิดความเข้มแข็งในมิติสังคม และเศรษฐกิจที่สามารถนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลในการวางแผนกำหนดยุทธศาสตร์ และการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรม และการจัดการองค์ความรู้เพื่อด้านศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ และนำไปสู่การประเมินผลตามตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจชุมชนบนฐานคิดของเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรม
     โครงการดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย โดยมีหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร อาทิ หลักสูตรปริญญาโท-เอก สาขาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและสภาพแวดล้อมสรรค์สร้าง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และหลักสูตรปริญญาโท-เอก สาขาวิชาการจัดการมรดกทางสถาปัตยกรรม อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการท่องเที่ยว ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาออกแบบตกแต่งภายใน และหลักสูตรปริญญาโท-เอก สาขาการออกแบบ คณะมัณฑนศิลป์ พร้อมทั้งความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก อาทิ โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ เทศบาลตำบลอัมพวา มูลนิธิโลกสีเขียว โครงการไพรสาร และชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดสมุทรสงคราม เนื่องจากการขับเคลื่อนโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนและการวิจัยเชิงพื้นที่นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งขับเคลื่อนให้เกิดการรับรู้และกลไกที่เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อร่วมสนับสนุนองค์ความรู้และทรัพยากรระหว่างหน่วยงานความเชี่ยวชาญต่าง ๆ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนกรอบการดำเนินการเชิงพื้นที่ให้เข้าใกล้กับเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม
     การดำเนินกิจกรรมนี้ได้เลือกโอกาสในวันที่เมืองต่าง ๆ ในโลกกำหนดจัดกิจกรรมร่วมกัน คือ ปฏิบัติการสำรวจธรรมชาติวิทยาในเมือง หรือ City Nature Challenge – CNC เพื่อให้การศึกษาสำรวจนี้ได้ช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกิดนักวิทยาศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชนที่ต่อยอดแนวความคิดจาก นักวิทยาศาสตร์พลเมือง โดยทุกกิจกรรมได้ถูกออกแบบให้เชื่อมโยงกับนิเวศวัฒนธรรมเมืองสมุทรสงคราม หรือที่เรียกกันตามลักษณะเฉพาะตัวของนิเวศว่า “เมืองสามน้ำ” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงบริบทที่เกี่ยวเนื่องระหว่างต้นทุนระบบนิเวศและต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรม ที่ทั้งสองส่วนต่างอิงอาศัยกันอย่างแนบชิด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยสมุทรสงครามอยู่ดี ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของโครงการ คือ ประชากรชาวสมุทรสงคราม ทุกเพศ ทุกวัย โดยเน้นไปที่ครอบครัวและเยาวชน ตลอดจนผู้ที่สนใจทั่วไป โดยประกอบด้วยกิจกรรมย่อยต่าง ๆ อาทิ
     1) พินิจและสดับเสียงนานาสกุณาในจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดอัมพวัน ซึ่งเป็นการเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพจากภาพจิตรกรรม อันเป็นโอกาสสำคัญที่จะบูรณาการให้ผู้สนใจวิทยาศาสตร์และชีววิทยามาสนใจศิลปวัฒนธรรม ในขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงให้ผู้สนใจศิลปวัฒนธรรมมาสนใจชีววิทยาและสิ่งมีชีวิตรอบ ๆ ตัวเรา
     2) นานาพฤกษาแห่งสวนนอกบางช้าง ซึ่งเป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และโบราณคดี พฤษศาสตร์และภูมิทัศน์วัฒนธรรมของสวนนอกบางช้าง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าว ปลา อาหาร ป้อนสู่กรุงศรีอยุธยาในช่วงปลายและกรุงรัตนโกสินทร์มาจนกระทั่งปัจจุบัน
     3) ใครกันบ้างมีบ้านที่หาดโคลน ด้วยเหตุที่แม่น้ำแม่กลองไหลลงสู่ทะเลที่อ่าว ก.ไก่ หน้าบ้านเมืองสมุทรสงคราม ทำให้เมืองแห่งนี้ได้รับโอกาสจากความอุดมสมบูรณ์จากสายน้ำนับจากอดีตถึงปัจจุบัน
ที่ปากแม่น้ำมีดินดอนที่เกิดจากตะกอนที่แม่น้ำพามาและมีสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นกับดินดอนปากแม่น้ำนี้ คือ
หอยหลอด ที่นับวันอยู่ในสภาวะเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์จากการบริโภค ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบในแนวกว้าง
และลึก คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ผู้คนปลายน้ำและเมืองสมุทรสงครามจะดำรงวิถีวัฒนธรรมของตนอยู่ต่อไปได้อย่างไร หากแม่น้ำทั้งสายเสื่อมโทรมลง
     4) ชวนน้องมองนกบุกพงรกดูแมลง ภูมิทัศน์วัฒนธรรมสวนผลไม้ เป็นส่วนหนึ่งของวิถีวัฒนธรรม
ของผู้คนชาวแม่กลอง เพื่อร่วมเรียนรู้กันว่าภูมิทัศน์ที่เกิดจากภูมิปัญญาของสวนว่ามีสิ่งมีชีวิตใดอยู่อาศัยบ้าง และหากเราทำเกษตรอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะส่งผลให้สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ อยู่ร่วมกันได้และทำให้เรา
มีชีวิตที่ปลอดภัยจากเคมีภัณฑ์เนื่องจากการเกษตรอีกด้วย
     5) สิ่งมีชีวิตตัวเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เป็นการทำความเข้าใจต่อนิเวศสายน้ำ อันเป็นสายเลือด
ที่หล่อเลี้ยงให้พื้นดินสมุทรสงครามชุ่มชื่น และชีวิตผู้คนร่มเย็นด้วยสามารถหาอยู่หากินได้อย่างเป็นสุข
ทว่าสายน้ำหน้าบ้านไม่ได้มีเพียงสิ่งมีชีวิตที่มองเห็นได้ด้วยตา หากแต่ยังมีสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ นับไม่ถ้วน
ที่อาจมองเห็นไม่ได้ด้วยตาอาศัยร่วมอยู่ด้วย
     ทั้งนี้ มีผู้สนใจเข้าร่วมในทุกกิจกรรม หลากวัย หลากเพศ จำนวนมากกว่า 150 คน
ที่มา : https://www.facebook.com/share/p/9GrzBnRHe7chvRMW/

https://www.facebook.com/share/p/svvV1rHdybKrnG96/

https://www.facebook.com/share/p/Nmu98PSMfGFoynv7/