โครงการการศึกษาลักษณะจำเพาะและผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมของขยะอาหารจากการท่องเที่ยวและกิจการที่เกี่ยวเนื่องในพื้นที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
รศ.ดร.อุไรวรรณ ไอยสุวรรณ์ คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยศิลปากร หัวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง การศึกษาลักษณะจำเพาะและผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมของขยะอาหารจากการท่องเที่ยวและกิจการที่เกี่ยวเนื่องในพื้นที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ปีงบประมาณ 2564 ได้มีการดำเนินการส่งเสริมให้โรงแรมและที่พัก ร้านอาหารและบริการอาหาร ตลาดสด และห้างสรรพสินค้า ในพื้นที่เทศบาลเมืองชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และเทศบาลเมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีการคัดแยกขยะอินทรีย์ และนำมาศึกษาปริมาณและองค์ประกอบทางเคมีของขยะอาหารที่เกิดจากร้านอาหารและบริการอาหารในพื้นที่เทศบาลเมืองชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และเทศบาลเมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จากการเก็บข้อมูลในปี 2564-2565 ผลการศึกษาพบว่า ร้านอาหารและบริการอาหารในพื้นที่เทศบาลเมืองชะอำมีขยะอาหาร 1,130.86 ตันต่อปี และในพื้นที่เทศบาลเมืองหัวหิน 2,021.41 ตันต่อปี ส่วนใหญ่เป็นเศษอาหารเหลือจากการบริโภค (ร้อยละ 46.17 และ 42.08 ของขยะอาหารทั้งหมดในพื้นที่เทศบาลเมืองชะอำและเทศบาลเมืองหัวหิน ตามลำดับ) ถัดมาเป็นขยะอาหารที่สามารถนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเศษเนื้อ นมและไข่ เศษอาหารทะเล รวมไปถึงเศษขนมปัง (ร้อยละ 29.46 และ 33.61 ตามลำดับ) และขยะอาหารที่เหมาะสำหรับใช้ทำปุ๋ยหมักซึ่งส่วนใหญ่เป็นเศษผักและผลไม้ (ร้อยละ 24.37 และ 24.31 ตามลำดับ) เศษปลาและเปลือกกุ้งมีโปรตีนสูงมีศักยภาพในการเป็นแหล่งโปรตีนในสูตรอาหารสัตว์ได้แต่ควรระวังเรื่องการปนเปื้อนแคดเมียมและปรอท ซึ่งการคัดแยกขยะอาหารจากร้านอาหารและบริการอาหารที่ต้นทางตามคุณสมบัติและวิธีการนำไปใช้ประโยชน์นับเป็นการจัดการขยะอาหารที่ช่วยส่งเสริมความยั่งยืนของภาคการท่องเที่ยว ลดค่าใช้จ่ายของเทศบาลในการดำเนินการจัดการขยะ ลดการฝังกลบขยะ ส่งเสริมการนำขยะอินทรีย์กลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่
สามารถศึกษารายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : https://doi.nrct.go.th//ListDoi/listDetail?Resolve_DOI=10.14456/jesm.2024.4





