มหาวิทยาลัยศิลปากรได้รับทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม เรื่อง การพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบตรวจจับไฟป่าในระยะเริ่มต้น โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์จากข้อมูลการเกิดไฟป่าทางภาคเหนือของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 จนถึงปัจจุบันในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนบ่งให้เห็นว่ามีการจำนวนการเกิดไฟป่าสูง โดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2563 ระบุว่ามีจำนวนไฟป่าของทั้งสองจังหวัดรวมกันเป็นจำนวน 2,904 ครั้ง ซึ่งคิดเป็น 52.4% ของการเกิดไฟป่าในภาคเหนือ โดยคิดเป็นพื้นที่ถูกไฟไหม้รวม 115,433 ไร่ นอกจากนี้ พื้นที่ทั้งสองจังหวัดนี้ถูกระบุเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดไฟป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของอุทยานแห่งชาติแม่ปิงที่เป็นพื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซากในระยะเวลา 22 ปีผลกระทบที่เกิดขึ้นจากไฟป่าไม่เพียงจะส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อสุขภาพของประชาชนด้วย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลให้ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการไฟป่าด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการทำงานทั้งกระบวนการตั้งแต่การป้องกัน การกู้ภัยและควบคุม ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการไฟป่าแบบบูรณาการ สำหรับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนสามารถเข้าถึงสารสนเทศและสามารถกู้ภัย ควบคุมไฟป่าตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดับไฟป่าและจำกัดขอบเขตพื้นที่ไฟไหม้

ในปัจจุบันแม้จะมีการใช้ข้อมูลจุดความร้อนของไฟ (Fire hotspot) จากดาวเทียม แต่เนื่องจากข้อจำกัดของเซ็นเซอร์ในดาวเทียมไม่สามารถตรวจทะลุหรือผ่านเมฆหรือควันหนา ๆ เมื่อเกิดไฟไหม้หรือเรือนยอดไม้ที่ปกคลุมป่า และปัญหาที่เกิดจากการแปลผลที่ไม่ทราบพิกัดที่แน่นอนจากต้นทางของไฟ จากประสบการณ์ของคณะผู้วิจัยจากโครงการ SEA-HAZEMON@TEIN ในการพัฒนาเซ็นเซอร์ IoT สำหรับการติดตามคุณภาพอากาศในประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ฟิลิปปินส์ และอินโดนิเชีย รวมถึงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังไฟป่าอัจฉริยะที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ปี 2564 ในพื้นที่ดอยช้างป่าแป๋ จ.ลำพูน ซึ่งเปรียบได้กับ “จมูก” ที่คอยตรวจจับควันจากไฟป่า แต่ยังขาดความสามารถในการระบุตำแหน่งการเกิดไฟป่าได้ คณะผู้วิจัยจึงมีแนวคิดที่จะขยายผลการวิจัยไปสู่การควบคุมไฟป่าโดยการพัฒนา “ตา” ด้วยการติดตั้งกล้องความละเอียดสูง ซึ่งควบคุมการทำงานด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ในลักษณะของเอดจ์คอมพิวติ้ง ที่ทำงานร่วมกับข้อมูลจากเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ติดตั้งร่วมกัน จะทำให้เจ้าหน้าที่จากสถานีควบคุมไฟป่าใช้การวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยสามารถแสดงผลและแจ้งเตือนได้ในแผนที่ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยังผลให้เกิดประสิทธิภาพในการดับไฟป่าและจำกัดขอบเขตพื้นที่ไฟไหม้ได้อย่างทันท่วงที และลดการสูญเสียได้อย่างมากซึ่งพื้นที่การวิจัยจะติดตั้งกล้องบริเวณอุทยานแห่งชาติแม่ปิง โดยองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยนี้จะได้รับการถ่ายทอดให้กับบุคลากรของสถานีควบคุมไฟป่า ตลอดจนชุมชนเพื่อให้มีส่วนร่วมในการตรวจจับไฟป่าและการควบคุมไฟป่า นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการบ้านก้อแซนด์บ๊อกซ์