การศึกษาทรัพยากรปลาในพื้นที่โครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร นำโดย ดร.สาวิกา กัลปพฤกษ์ และคณะ ได้ดำเนินโครงการ “การศึกษาทรัพยากรปลาในพื้นที่โครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เพื่อการอนุรักษ์และสร้างทุนทรัพยากรธรรมชาติสู่การเรียนรู้และการพัฒนาท้องถิ่นบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ” ซึ่งเป็นการศึกษาทรัพยากรปลาในพื้นที่โครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ในเดือนมีนาคม 2565 ถึงมกราคม 2566 พบพรรณปลาทั้งหมด 19 วงศ์ 46 ชนิด โดยมีวงศ์ Cyprinidae เป็นวงศ์เด่นที่จำนวนชนิดมากที่สุดคือ 12 ชนิด รองลงมาเป็นวงศ์ Danionidae มีจำนวนชนิด 5 ชนิด และวงศ์ Nemacheilidae มีจำนวน 4 ชนิด ส่วนวงศ์อื่น ๆ พบเพียง 1–3 ชนิดเท่านั้น ระบบนิเวศปลายน้ำพบพรรณปลามากที่สุดคือ 19 วงศ์ 42 ชนิด รองลงมาเป็นระบบนิเวศน้ำตกพบพรรณปลา 6 วงศ์ 13 ชนิด และระบบนิเวศลำธารบนภูเขาพบพรรณปลา 4 วงศ์ 8 ชนิด ในการศึกษาครั้งนี้พบพรรณปลาที่มีสถานภาพเป็นปลาเฉพาะถิ่น (Endemic species) จำนวนทั้งสิ้น 5 วงศ์ 9 ชนิด และพบปลาต่างถิ่น 1 ชนิด จากข้อมูลด้านโครงสร้างทางนิเวศวิทยาบ่งชี้ได้ว่า ในภาพรวมพื้นที่ศึกษาส่วนใหญ่มีความหลากหลายสูง แต่จะมีชนิดพรรณปลาบางชนิดที่มีปริมาณโดดเด่นกว่าชนิดอื่น ๆ อย่างชัดเจน ในด้านการศึกษาจำแนกชนิดโดยใช้ดีเอ็นเอบาร์โค้ดและความแตกต่างทางพันธุกรรมของประชากรปลาพบว่า มีพรรณปลาอย่างน้อย 3 ชนิด ได้แก่ ปลาซิวใบไผ่ (Devario cf. regina), ปลาค้อทองผาภูมิ (Schistura cf. aurantiaca) และปลาอีดพม่า (Lepidocephalichthys cf. berdmorei) ที่มีลำดับดีเอ็นเอแตกต่างจากลำดับดีเอ็นเอในฐานข้อมูลอย่างชัดเจน โดยมี Percent identity 91.86–96.01% อีกทั้งในการศึกษาครั้งนี้ยังได้มีการจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรปลาท้องถิ่น และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เยาวชนและประชาชนในพื้นที่เพื่อสร้างการรับรู้ด้านการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนสืบต่อไป